Monthly Archives: มกราคม 2013

สัตว์ในป่าชายเลน

สัตว์ที่อาศัยอยู่ตามพื้นป่าโดยอาศัยคืบคลานหรือเกาะหรือขุดรูอยู่ตามพื้นดิน รวมทั้งพวกที่อยู่ในน้ำ จะต้องมีการปรับตัวอย่างมากเพื่อการอยู่รอด เนื่องจากต้องประสบกับสภาวะต่างๆที่เปลี่ยนแปลงอยู่เป็นประจำหรือต้องอยู่ในสภาพไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตโดยทั่วไป เช่น สภาวะที่ทำให้มีการสูญเสียน้ำออกจากลำตัวและสภาพอุณหภูมิสูง สภาพที่มีปริมาณออกซิเจนค่อนข้างต่ำของดินเลน และการเปลี่ยนแปลงความเค็มของน้ำ สภาพแวดล้อมทางทะเล ป่าชายเลนเป็นแหล่งที่อุดมไปด้วยสัตว์น้ำและสัตว์บกนานาชนิด นับตังแต่สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังชั้นต่ำ ตั้งแต่ ฟองน้ำ ซีเลนเตอเรท หนอนตัวแบน หนอนปล้องหอย หมึก กุ้ง กั้ง ปู ตลอดจนสัตว์มีกระดูกสันหลังจำพวก ปลา สัตว์เลื้อยคลาน นก และ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์ต่างๆเหล่านี้ ส่วนใหญ่มีความสำคัญ ทางเศรษฐกิจ และมีความสำคัญต่อ ระบบนิเวศทะเล เป็นอย่างยิ่ง หนอนริบบิ้น (Ribbon worm) ลำตัวแบนเรียวยาวคล้ายคลึงกับหนอนตัวแบน ร่างกายไม่มีปล้อง มีท่อทางเดินอาหารครบจากปากสู่ทวารหนัก และมีงวงที่ยืดหดได้ทางด้านหน้า ลำตัวสีแดงเพราะมีระบบหมุนเวียนโลหิตฝังตัวอาศัยอยู่ในดินโคลนบริเวณป่าชายเลน แม่เพรียง (Polychaete Worm) หนอนปล้องที่อาศัยอยู่ตามพื้นป่าชายเลนมีระยางค์เป็นคู่ช่วยในการวายน้ำ ในช่วงฤดูหนาวที่น้ำทะเลขึ้นสูง แม่เพรียงจะว่ายน้ำออกมาที่ผิวทะเลเพื่อผสมพันธุ์ โดยตัวผู้และตัวเมียปล่อยเซลล์สืบพันธุ์จำนวนมากออกไปผสมกันในน้ำทะเลได้ตัวอ่อนที่ดำรงชีวิตเป็นแพลงค์ตอนชั่วคราว ส่วนพ่อแม่พันธุ์มักถูกปลาทะเลจับกินเป็นอาหาร ปูเปี้ยวก้ามขาว (Uca perplexa) บริเวณชายหาดโคลนปนทราย ริมป่าชายเลน จะเป็นที่อยู่อาศัยของปูเปี้ยวหรือปูก้ามดาบ ซึ่งมีก้ามข้างหนึ่งขนาดใหญ่ใช้โบกพัดแสดงความเป็นเจ้าของอาณาเขตของตน ตามปกติปูก้ามดาบจะขุดรู และออกมาจากรูหาอาหารช่วงเวลาน้ำลง และฝังตัวอยู่ในรูเมื่อน้ำทะเลขึ้น ปูเปี้ยวปากคีบ (Uca forcipata) ปูก้ามดาบอีกชนิดหนึ่ง มีกระดองสีดำก้ามสีน้ำตาลอมม่วง ชอบอาศัยอยู่ตามพื้นที่เป็นดินโคลน แยกจากกลุ่มของปูเปี้ยวก้ามขาว ทั้งนี้เป็นการลดการแก่งแย่งแข่งขันระหว่างปูประเภทเดียวกัน ปูเปี้ยวขาแดง (Uca tetragonon) ปูก้ามดาบชนิดที่มีกระดองสีฟ้าแต้มด้วยจุดดำ ตรงมุมกระดองมีสีเหลือง ขาเดินมีสีส้มแดง ตัวเมียมีก้ามขนาดเล็กทั้งสองข้างเช่นเดียวกับปูก้ามดาบทั่วไป พบอาศัยอยู่ตามหาดโคลนใกล้แนวป่าชายเลนทางฝั่งทะเลอันดามัน ปูแสมก้ามแดง (Chiromanthes eumolpe) ปูแสมขนาดกลาง กระดองกว้างประมาณ 2.5 เซนติเมตร เป็นรูปสี่เหลี่ยม ก้ามสีแดงขุดรูอาศัยอยู่ตามพื้นป่าชายเลนหรือริมคันนาน้ำเค็ม กินเศษอินทรีย์ต่างๆ เป็นอาหาร พบชุกชุมและมีการแพร่กระจายทั่วไป ปูแสม หรือปูเค็ม (Sesarma mederi) กระดองเป็นรูปสี่เหลี่ยม ปกคลุมด้วยขนสั้นก้ามขนาดใหญ่แข็งแรงสีบานเย็นอมม่วง ขุดรูอาศัยอยู่ตามพื้นป่าชายเลนที่เป็นดินโคลน กินเศษอินทรีย์และใบไม้ที่เน่าเปื่อยเป็นอาหาร ปูชนิดนี้เองที่ถูกจับนำมาดองเป็นปูเค็ม ปูแสมก้ามยาว (Metaplax elegan) ปูแสมชนิดหนึ่งที่มีรูปร่างคล้ายคลึงกับปูก้ามดาบ โดยมีก้ามขนาดยาวใหญ่ ส่วนขาเดินเรียวเล็ก ขุดรูอาศัยอยู่ตามหาดโคลนริมแนวป่าชายเลนปะปนกับปูก้ามดาบกระดองมีความกว้างประมาณ 1.5 เซนติเมตร ก้ามมีสีส้มแดง ปูทะเล (Scylla serrata) ปูขนาดใหญ่ เมื่อโตเต็มที่อาจมีน้ำหนักมากกว่าครึ่งกิโลกรัม กระดองพื้นผิวเรียบ เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ ตัวผู้จะอุ้มตัวเมียไว้รอจนกว่าตัวเมียจะลอกคราบแล้วจึงผสมพันธุ์ ไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิแล้วจะถูกปล่อยออก มาอุ้งไว้ที่หน้าท้องจนกระทั่งฟักออกไปเป็นตัวอ่อน ดำรงชีวิตเป็นแพลงค์ตอนชั่วคราว กุ้งเคย (Acetes) ครัสเตเชียนขนาดเล็กรูปร่างคล้ายกุ้ง แต่ดำรงชีวิตอยู่ใกล้ผิวทะเลโดยไม่จมลงคลานตามพื้นอย่างกุ้งทั่วไป ขนาดยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร เปลือกบางและนิ่ม อาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงตามชายทะเลและลำคลองบริเวณป่าชายเลน กุ้งกุลาดำ (Penaeus monodon) กุ้งทะเลขนาดค่อนข้างใหญ่ ความยาวลำตัวประมาณ 20 เซนติเมตร ลำตัวสีน้ำเงินอมม่วงเข้มและมีลายขวางเป็นปล้อง อาศัยอยู่ตามพื้นทะเลริมชายฝั่งและป่าชายเลนปัจจุบันมีการทำฟาร์มเพาะเลี้ยงกันอย่างแพร่หลาย กุ้งแชบ๊วย (Penaeus merguiensis) กุ้งทะเลขนาดค่อนข้างใหญ่ใกล้เคียงกับกุ้งกุลาดำ เปลือกหุ้มตัวมีสีเหลืองนวลบนกรีมีฟัน 5-8 ซี่ ด้านล่างมี 2-5 ซี่ อาศัยอยู่ตามพื้นทะเลที่เป็นดินโคลนริมชายฝั่งและลำคลองในป่าชายเลน แม่หอบ (Thallassina anomula) แม่หอบเป็นครัสเตเชี่ยนลักษณะคล้ายคลึงกับกุ้งแต่ส่วนท้องมีขนาดใหญ่ และสามารถอาศัยอยู่บนบกได้นาน ลำตัวเรียวยาว ขาเดินคู่แรกเป็นก้ามหนีบ ส่วนท้องแบ่งออกเป็นปล้อง แม่หอบขุดรูอาศัยอยู่ตามพื้นป่าชายเลนโดยขนดินขึ้นมากองทับถมกันเป็นเนินสูง และอาศัยอยู่ด้านใต้กองดินนั้น พบเฉพาะป่าชายเลนทางภาคใต้ กั้งตั๊กแตน (Oratosguilla nepa) กั้งตั๊กแตนขนาดกลาง ความยาวประมาณ 15 เซนติเมตร ลำตัวค่อนข้างแบน ด้านบนมีสันเรียงตัวตามความยาว 8 เส้น ส่วนท้องปล้องที่ 2 และ 5 มีแถบคาดสีดำตามขวาง ตัวเมียที่ผ่านการผสมแล้วจะปล่อยไข่ออกมาอุ้งไว้จนกว่าจะฟักเป็นตัวอ่อน แมงดาถ้วย (Carcinoscorpius rotundicauda) สัตว์มีขาเป็นข้อปล้องที่อาศัยอยู่ในทะเล ส่วนหัวเชื่อมรวมกับอกเป็นรูปเกือกม้า ส่วนท้องมีหนามบริเวณขอบข้างละ 6 คู่ หางค่อนข้างกลมและไม่มีหนาม อาศัยอยู่ตามพื้นทะเลที่เป็นดินโคลน วางไข่ตามริมตลิ่งบริเวณป่าชายเลน แมงดาชนิดนี้บางตัวอาจะเป็นพิษจึงควรระมัดระวังในการรับประทานไข่แมงดาหางกลมโดยเฉพาะช่วงเดือน ธันวาคม-มีนาคม หอยขี้นก (Cerithidea) หอยกาบเดี่ยวขนาดยาวประมาณ 4 เซนติเมตร เปลือกเวียนเป็นเกลียวรูปเจดีย์ พบเกาะอยู่ตามรากต้นโกงกาง หรือคลานอยู่ตามพื้นป่า เมื่อหอยเหล่านี้ตายลงเปลือกจะเป็นที่อยู่อาศัยของลูกปูเสฉวนขนาดเล็ก ปลาตีน (Boleophthalmus) ปลาที่ปรับตัวทางโครงสร้างและสรีระหลายอย่างจนสามารถอาศัยอยู่บนบกได้เป็นเวลานาน ปลาตีนมีอยู่หลายชนิดและขนาดแตกต่างกัน หัวขนาดใหญ่ ตาโตลำตัวเรียวเล็กลงไปทางหาง ครีบอกแผ่ขยายใหญ่ใช้คลานขณะอยู่บนบกได้ดี ปลาตีนกินกุ้ง ปู และหนอนตามหาดโคลนเป็นอาหาร ปลานวลจันทร์ทะเล (Chanos chanos) ปลาทะเลที่สามารถอาศัยอยู่ในน้ำกร่อยได้ ลำตัวแบนด้านข้างเรียวยาว เกล็ดสีเงินเมื่อโตเต็มที่มีความยาวถึง 1 เมตร ครีบหางค่อนข้างใหญ่ มักอยู่รวมกันเป็นฝูงหากินใกล้ชายฝั่งที่เป็นดินโคลน มักพบอยู่ตามลำคลองในป่าชายเลนทั่วไป ปลากะพงขาว (Lates calcarifer) ปลากะพงขนาดค่อนข้างใหญ่ เมื่อโตเต็มที่มีความยาวถึง 1 เมตร เกล็ดลำตัวเป็นสีเงิน ส่วนหัวเล็กงอนลงเล็กน้อย อาศัยอยู่ตามลำคลองในป่าชายเลนและริมฝั่งทะเลทั่วไป นับเป็นปลาเศรษฐกิจที่สำคัญ ปัจจุบันมีการเพาะเลี้ยงกันอย่างแพร่หลาย ปลากะพงตาแมว (Lutianus) ลำตัวค่อนข้างสั้น ตาอยู่ค่อนไปทางหัวขนาดยาวประมาณ 30 เซนติเมตร เกล็ดข้างตัวมีสีน้ำตาลอมเทา เส้นข้างลำตัวปรากฏเด่นชัด หากินอยู่ใกล้พื้นทะเลริมชายฝั่งและลำคลองในป่าชายเลน ปลาข้างตะเภา (Therapon jarbua) ปลาขนาดยาวประมาณ 15 เซนติเมตร ลำตัวสีเงินคาดด้วยแถบสีดำตามความยาวปลาชนิดนี้เป็นปลาที่สามารถอาศัยอยู่ทั้งในน้ำค่อนข้างจืด น้ำกร่อยและน้ำเค็ม กินอาหารไม่เลือก มักอาศัยอยู่ตามชายฝั่งทั่วไปบริเวณป่าชายเลนและปากแม่น้ำ ปลาตะกรับจุด หรือปลากะทะ (Scatophagus argus) ลำตัวแบนบางทางด้านข้างคล้ายปลาผีเสื้อปากเล็ก ลำตัวและครีบมีจุดสีน้ำตาลกระจายทั่วไป มักอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง โดยเฉพาะตัวขนาดเล็กมักว่ายอยู่ตามผิวน้ำ บริเวณลำคลองของป่าชายเลน ปลากะรังปากแม่น้ำ (Epinephelus tauvina) ปลากะรังหรือปลาเก๋าขนาดใหญ่ เมื่อโตเต็มที่มีความยาวถึง 80 เซนติเมตร ปากกว้าง สามารถฮุบกินเหยื่อเข้าไปทั้งตัวซึ่งได้แก่ปลาขนาดเล็กกว่า พบอาศัยอยู่บริเวณปากแม่น้ำหรือตามลำคลองของป่าชายเลน จัดเป็นปลาเศรษฐกิจที่สำคัญเช่นเดียวกับปลากะพงขาว ปลาอมไข่ (Apogon) ลำตัวสั้นมากและแบนทางด้านข้าง ครีบหลังมี 2 อันเด่นชัด ปากค่อนข้างกว้างและเฉียงลงขนาดความยาวตัวประมาณ 5 เซนติเมตร ครีบท้องอยู่ตรงตำแหน่งอก ชอบอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงริมชายฝั่งทะเลและลำคลองในป่าชายเลน ปลาจรวด (Johnius) ปลาขนาดยาวประมาณ 20 เซนติเมตร ลำตัวแบนทางด้านข้าง เกล็ดมีสีเทาอมดำซึ่งแตกต่างจากปลาจรวดชนิดอื่น โดยทั่วไปซึ่งมักมีสีเงินอมเหลือง พบอาศัยอยู่ใกล้ชายฝั่งและลำคลองในป่าชายเลน โดยหากินใกล้พื้นทะเล ปลาเฉี่ยว หรือผีเสื้อเงิน (Monodactylus argenteus) ลำตัวป้อมสั้นเป็นรูปสี่เหลี่ยม ครีบหลังและครีบทวารยื่นยาว ผิวลำตัวสีเงินเหลือบเป็นประกายครีบหลังสีเหลืองมีลายคาดตามขวางผ่านตาและบริเวณขอบแผ่นปิดเหงือก มักพบบริเวณแหล่งน้ำกร่อย ปากแม่น้ำ และป่าชายเลน ปลาสลิดทะเลจุดขาว (Siganus oramin) ลำตัวแบนทางด้านข้าง ขนาดความยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร พื้นลำตัวสีเหลืองอมน้ำตาล แต้มด้วยจุดขาวทั่วตัว มักว่ายน้ำรวมกันเป็นฝูงเล็กๆหากินใกล้พื้นทะเลบริเวณชายฝั่งและปากแม่น้ำซึ่งเป็นป่าชายเลน ปลาเห็ดโคน (Sillago maculata) ลำตัวค่อนข้างกลมเรียวยาว ขนาดประมาณ 15 เซนติเมตร ปากยาวแหลม เกล็ดหุ้มลำตัวสีเงินเป็นประกาย อาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง หาอาหารจำพวกหนอน หอย กุ้ง ตามพื้นทะเลที่เป็นโคลนริมชายฝั่งและปากแม่น้ำ

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

http://chailan2008.ueuo.com/lan06-0.html